นัดหมาย ค้นหาแพทย์ ติดต่อเรา

เมื่อน้ำตาลเป็นพิษ

โรคและการรักษา 17 กันยายน 2565 11,506 ครั้ง

สพ.ญ.ขวัญหทัย โรจนโกเมศ แผนกอายุรกรรม

คลินิกเบาหวานและต่อมไร้ท่อ

         หลายๆคนคงจะเคยได้ยินโรคเบาหวานกันมาบ้างแล้วนะคะ ท่านทราบหรือไม่ว่าสัตว์เลี้ยงของท่านอาจเป็นเบาหวานได้เช่นกัน  โรคเบาหวานเกิดจากภาวะที่ ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ซึ่งถูกสร้างจากตับอ่อนนั้นมีน้อยหรือไม่มีการสร้างเลยหรืออาจมีการสร้างได้แต่ประสิทธิภาพในการออกฤทธิ์ลดลงจากเดิม ทำให้ขบวนการเผาผลาญ และสะสมน้ำตาลเพื่อมาใช้เป็นพลังงานได้ลดลง เมื่ออินซูลินในร่างกายไม่เพียงพอ จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น

ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง

         ในสุนัขพบได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 4-12 ปี และพบว่าพบในเพศเมียมากกว่าถึง 2 เท่า สายพันธุ์ที่พบบ่อยได้แก่ พุดเดิล , ดัชชุน , มิเนเจอร์พินเชอร์ , มิเนเจอร์ ชเนาเซอร์ , บีเกิล , ปั๊ก , โกลเดนรีทรีพเวอร์   ส่วนในแมวพบว่าแมวเพศผู้ที่ทำหมันแล้วสามารถพบได้มากกว่าเพศเมียถึง 1.5 เท่า หรือแม้กระทั่งในแมวชรา หรือแมวที่มีน้ำหนักตัวเฉลี่ยมากกว่า 6.8 กิโลกรัมก็สามารถพบได้สูงอีกด้วย

เบาหวานมี  2 ชนิดด้วยกันคือ

         1. เบาหวานชนิดพึ่งอินซูลิน (Insulin-dependent diabetes mellitus/ IDDM)

                  Type I Diabetes เบาหวานชนิดนี้พบในสุนัขเป็นส่วนใหญ่ ตับอ่อนของสัตว์ป่วยจะสร้างอินซูลินไม่ได้เลย หรือได้น้อยมาก บางทฤษฎีกล่าวว่าอาจเกิดจากร่างกายมีการสร้างแอนติบอดีขึ้น ต่อต้านทำลายตับอ่อนของตัวเอง จนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้ ดังที่เรียกว่า “โรค ภูมิแพ้ต่อตัวเอง” (autoimmune)” ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจาก ความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ ร่วมกับการติดเชื้อ หรือการได้รับสารพิษจากภายนอก สัตว์ป่วยจำเป็นต้องพึ่งพาการฉีดอินซูลิน เข้าทดแทนในร่างกายทุกวัน จึงจะสามารถเผาผลาญน้ำตาลได้เป็นปกติ

        2. เบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (Non-insulin-dependent diabetes mellitus/NIDDM)

                  Type II Diabetes เบาหวานชนิดนี้ส่วนใหญ่จะพบในแมวมากกว่าสุนัข โดย ตับอ่อนของสัตว์ป่วย ยังสามารถสร้างอินซูลินได้ แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายหรือสร้างอินซูลินได้แต่ไม่ออกฤทธิ์ จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้น  กลายเป็นเบาหวานได้ เบาหวานชนิดนี้อาจสัมพันธ์กับความอ้วน  , กรรมพันธุ์  , จากการใช้ยา เช่น สเตอรอยด์, ยาขับ ปัสสาวะ, ยาคุมกำเนิด หรือพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง, มะเร็งของตับอ่อน, ตับแข็งระยะสุดท้าย, โรคคุชชิง  เป็นต้น การควบคุมอาหาร หรือการใช้ยาเบาหวานชนิดกิน มักจะได้ผลในการควบคุม ระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติได้ หรือบางครั้งถ้าระดับน้ำตาลสูงมากๆ ก็อาจต้องใช้อินซูลิน ฉีดเป็นครั้งคราว ในแมวพบว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ได้มากถึง 80-95% ส่วนอีก 5-20% มักเป็นชนิดแรก

 สังเกตอย่างไรว่าสัตว์เลี้ยงอาจป่วยเป็นเบาหวาน

         อาการเริ่มแรกที่สังเกตเห็นง่าย คือ ปัสสาวะบ่อยและมาก โดยเฉพาะตอนกลางคืน อาจจะมากกว่า 3 – 4 ครั้ง ขึ้นกับความรุนแรงของโรค เนื่องจากน้ำตาลที่ออกมาทางไต จะดึงเอาน้ำออกมาด้วย จึงทำให้มีปัสสาวะมากกว่าปกติ เมื่อปัสสาวะมาก ก็ทำให้ร่างกายขาดน้ำ รู้สึกกระหายน้ำ กินน้ำเยอะขึ้นบ่อยขึ้น เนื่องจากสัตว์ป่วยไม่สามารถนำน้ำตาลมาเผาผลาญเป็นพลังงานไปใช้ได้ จึงหันมาเผาผลาญกล้ามเนื้อ และไขมันแทน ทำให้ร่างกายขาดพลังงาน ผอม ไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบ อ่อนเพลีย หิวบ่อย กินเก่ง แต่น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว   หากอาการรุนแรงอาจพบอาการทางประสาท ตาต้อกระจก หรืออาจเกิดตาบอดเฉียบพลันได้ ในรายที่มีข้อแทรกซ้อนอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากภาวะคีโตนในเลือดสูงหรือที่เรียกว่า Diabetic KetoAcidosis(DKA)  จะมีอาการอาเจียน , ท้องเสีย , ซึม , ขาดน้ำอย่างรุนแรงถือเป็นภาวะฉุกเฉินหากไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การตรวจวินิจฉัย

         การตรวจในระยะเริ่มต้นสามารถตรวจอย่างคร่าวๆโดยการปัสสาวะโดยทำการอดอาหารและน้ำก่อนตรวจ อย่างน้อย 8 ชั่วโมง หากพบว่ามีน้ำตาลในปัสสาวะก็อาจมีสาเหตุเกิดจากเบาหวานได้ สัตว์เลี้ยงควรได้รับการการเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาลในเลือด  หากค่าน้ำตาลในกระแสเลือดมากกว่า 180 ในสุนัข และ มากกว่า250 ในแมว อาจสงสัยว่าเป็นเบาหวานได้ค่ะ

Powered by Froala Editor


หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดูแลสัตว์เลี้ยง สนใจบริการ อาบน้ำตัดขน ว่ายน้ำ สั่งซื้อสินค้าสัตว์เลี้ยงออนไลน์ สามารถสอบถามได้ที่


#ThonglorPetHospital #TheBestAlways

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor

Powered by Froala Editor