ดวงตาเป็นหนึ่งในอวัยวะสำคัญของลูกสัตว์ที่ช่วยให้เด็กๆสำรวจโลก เรียนรู้สิ่งแวดล้อม และปรับตัวเข้ากับชีวิตในช่วงแรกเกิด พัฒนาการของระบบการมองเห็นไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่ต้องผ่านกระบวนการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากปัจจัยหลายประการ เช่น พันธุกรรม โภชนาการ และสิ่งแวดล้อมที่เลี้ยงดู ในบทความนี้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับแต่ละช่วงของพัฒนาการมองเห็นของลูกสัตว์ รวมถึงโรคและความผิดปกติที่อาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็นของลูกสัตว์ เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถดูแลและสนับสนุนการเจริญเติบโตของเด็กๆได้อย่างเหมาะสม

- ในครรภ์ (Fetal Development): ดวงตาจะเริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นของการตั้งครรภ์ ประมาณสัปดาห์ที่ 3-4 ของการตั้งครรภ์ โครงสร้างเบื้องต้นของดวงตาจะเริ่มก่อตัวขึ้น
- แรกเกิด (Birth): เมื่อลูกสุนัขและลูกแมวเกิดมา ดวงตาของเด็กๆจะยังปิดอยู่และจะไม่สามารถเปิดได้จนกว่าจะมีอายุประมาณ 10-14 วัน
- เปิดตา (Eye Opening): หลังจากอายุลูกสุนัขและแมวอายุได้ประมาณ 10-14 วัน ดวงตาจะเริ่มเปิด และการมองเห็นจะพัฒนาค่อยๆขึ้นอย่างช้าๆ โดยในช่วงสัปดาห์แรก ๆ ของการเปิดตา การมองเห็นจะยังไม่ชัดเจนมากนัก และลูกสัตว์ยังคงใช้ประสาทสัมผัสส่วนอื่นในการรับรู้มากกว่า
- การพัฒนาการมองเห็น (Visual Development): ในช่วงนี้ ดวงตาของลูกสัตว์จะเริ่มเปิดเต็มที่และเริ่มพัฒนาโฟกัสการมองเห็น ระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นจะทำงานได้ดีขึ้น การรับรู้แสง สี และการเคลื่อนไหวจะเริ่มชัดเจนขึ้น แต่ยังอาจมีข้อจำกัดอยู่ เช่น ลูกแมวและลูกสุนัขในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกจะมองเห็นเป็นภาพเบลอและยังไม่สามารถแยกแยะสีได้ดีในช่วง 3-4 สัปดาห์ พวกมันจะเริ่มรับรู้การเคลื่อนไหวและโฟกัสได้ดีขึ้น ลูกสัตว์บางชนิดเริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้าและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น เริ่มเดินสำรวจพื้นที่รอบตัว
การมองเห็นที่สมบูรณ์ (Adult Vision): โดยทั่วไป เมื่อมีอายุประมาณ 8-12 สัปดาห์ การมองเห็นจะพัฒนาอย่างเต็มที่ชัดเจนมากขึ้น สามารถแยกแยะระยะทาง และวัตถุได้ดี เริ่มตอบสนองต่อสิ่งเร้า เช่น การเล่น การล่า หรือการหลบหนีจากอันตราย ระบบการมองเห็นของลูกสัตว์จะพัฒนาไปตามลักษณะการดำรงชีวิตของแต่ละชนิด เช่น แมวที่เป็นนักล่าจะมีการมองเห็นในที่มืดดีมาก ส่วนสัตว์กินพืช เช่น ม้า จะมีมุมมองกว้างเพื่อระวังภัยจากนักล่า รวมถึงเด็กๆ จะเริ่มจดจำใบหน้าของเจ้าของและพัฒนาสายสัมพันธ์กับมนุษย์ผ่านการมองเห็น
ปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการมองเห็น
- พันธุกรรม – สายพันธุ์มีผลโดยตรงต่อพัฒนาการและความสามารถในการมองเห็น รวมถึงความเสี่ยงประจำพันธุ์ของแต่ละสายพันธุ์
- โภชนาการ – การได้รับสารอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะวิตามิน A และโอเมก้า 3 มีผลต่อสุขภาพของดวงตา
- สิ่งแวดล้อม – แสง เสียง และประสบการณ์การมองเห็นตั้งแต่เล็กช่วยพัฒนาการทำงานของดวงตา
- สุขภาพทั่วไป – การติดเชื้อ โรคทางพันธุกรรม หรือภาวะขาดสารอาหารอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการมองเห็น
- การฝึกฝน – การกระตุ้นด้วยของเล่น สีสัน และกิจกรรมการเล่นมีส่วนช่วยพัฒนาการรับรู้ของลูกสัตว์
ดังนั้นการดูแลลูกสัตว์ที่มีการพัฒนาของดวงตายังไม่เต็มที่จึงมีความสำคัญ เพื่อให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีและเติบโตอย่างแข็งแรง และปลอดภัย สำหรับคำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลลูกสัตว์ในขณะที่ดวงตายังไม่สามารถมองเห็นได้มีเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
- สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย: ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมที่ลูกสัตว์อาศัยอยู่นั้นปลอดภัย มีพื้นที่กั้นอย่างชัดเจน ไม่มีสิ่งของ หรือวัตถุที่อาจทำให้บาดเจ็บหรือเกิดอันตราย
- การตรวจสุขภาพ: พบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสอบสุขภาพทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ และติดตามการพัฒนาของดวงตา และการมองเห็นเป็นระยะๆ
- การให้สารอาหารที่ครบถ้วน: ให้การป้อนอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการสูง เพื่อสนับสนุนการเจริญเติบโตและการพัฒนาของร่างกายรวมถึงดวงตา
- ความสะอาด: รักษาความสะอาดบริเวณรอบๆ ดวงตาเพื่อลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
- การสร้างความคุ้นเคย: สร้างความคุ้นเคยให้แก่ลูกสัตว์ด้วยการเล่นและการสัมผัส เพื่อช่วยพัฒนาทักษะการรับรู้และประสาทสัมผัสอื่น ๆ
- ติดตามการพัฒนา: สังเกตพัฒนาการของลูกสัตว์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถรายงานให้สัตวแพทย์ทราบในกรณีพบความผิดปกติ
โรคและความผิดปกติของดวงตาในลูกสุนัขและลูกแมวแรกเกิด
ในระหว่างการพัฒนาการมองเห็น ลูกสัตว์จะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่างในระบบประสาทและการมองเห็น บางครั้งอาจมีปัญหาหรือโรคที่เกิดขึ้นได้ในระหว่างการเติบโต ตัวอย่างของโรค หรือความผิกปกติที่พบเจอได้บ่อย ในลูกสัตว์แรกเกิด เช่น
ดวงตาเปิดก่อนกำหนด (Premature eyelid opening) ดังที่กล่าวไปข้างต้น ลูกสัตว์โดยค่าเฉลี่ยจะเริ่มเปิดตาเมื่ออายุประมาณ 10 – 14 วันแต่ในบางครั้งอาจจะพบเจอว่าดวงตาของเด็กๆเปิดก่อนกำหนด ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้อาจจะทำให้เกิดภาวะตาแห้ง กระจกตาอักเสบ กระจกตาเป็นแผล เยื่อบุตาขาวอักเสบ และอาจโน้มนำให้เกิดภาวะติดเชื้อในดวงตาเกิดขึ้น และทำให้ดวงตาฝ่อได้ (Phthisis bulbi) สาเหตุเนื่องจากการต่อมน้ำตา ที่มีหน้าที่ผลิตน้ำตาเพื่อช่วยหล่อลื่นดวงตา และหล่อเลี้ยงสารอาหารให้กับดวงตายังพัฒนาได้ไม่เต็มที่เช่นกัน
- ดวงตาเปิดช้ากว่าปกติ (delayed eyelid opening) สาเหตุส่วนใหญ่มักมาจากการสะสมของเมือก หรือขี้ตาที่มากเกินไปในช่องว่างระหว่างหนังตากับกระจกตา บางครั้งเกิดร่วมกับการติดเชื้อ
- การติดเชื้อในตา (Neonatal Conjunctivitis)
- บางครั้งลูกสัตว์อาจเกิดการติดเชื้อในเยื่อบุตาที่เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งทำให้ตาบวมแดงและมีน้ำตาไหลในสุนัขและแมวสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยมีสาเหตุที่อาจแตกต่างกันในแต่ละสายพันธุ์หรือสัตว์แต่ละตัว ดังนี้:
สาเหตุของการติดเชื้อในเยื่อบุตาตั้งแต่กำเนิดในสุนัข
- การติดเชื้อไวรัส: สุนัขบางพันธุ์อาจได้รับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในตา ตั้งแต่แรกเกิด เช่น เชื้อ Canine Herpesvirus หรือ Canine Distemper Virus ซึ่งทั้งสองไวรัสนี้อาจทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อบุตาและทำให้เกิดอาการตาบวม ตาแดง
- การติดเชื้อแบคทีเรีย: สุนัขบางตัวอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในเยื่อบุตาตั้งแต่แรกเกิด โดยเฉพาะถ้าผลจากการคลอดที่ไม่สะอาดหรือการติดเชื้อจากแม่
สาเหตุของการติดเชื้อในเยื่อบุตาตั้งแต่กำเนิดในแมว
- การติดเชื้อไวรัส: ไวรัสที่พบบ่อยในแมวที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในเยื่อบุตาคือFeline Herpesvirus (FHV-1) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดอาการตาแดงและน้ำตาไหลในแมว รวมถึงการเกิดการติดเชื้อในเยื่อบุตาตั้งแต่แรกเกิด
- การติดเชื้อแบคทีเรีย: ในแมวที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียในช่วงแรกเกิด การติดเชื้อในเยื่อบุตาก็อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในลูกแมวที่ได้รับเชื้อจากแม่ โดยเฉพาะเชื้อ Chlamydia felis
- สภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด: แมวที่เกิดในสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด หรือมีการดูแลที่ไม่เพียงพอหลังการคลอด อาจทำให้การติดเชื้อในเยื่อบุตาตั้งแต่กำเนิดเกิดขึ้นได้
ภาวะตาไม่เปิด (Anophthalmia หรือ Microphthalmia)
- Anophthalmia คือภาวะที่ลูกสัตว์ไม่มีลูกตาเกิดขึ้นเลย หรือ
- Microphthalmia คือภาวะที่ลูกตาพัฒนาไม่เต็มที่ ทำให้ลูกสัตว์มีดวงตาที่เล็กผิดปกติและไม่สามารถมองเห็นได้ดี
ภาวะต้อกระจกในวัยเด็ก (Congenital Cataracts)
พบได้ในลูกสุนัขและลูกแมวบางตัว ทำให้เลนส์ตาขุ่นมัวและอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็น สายพันธุ์สุนัขที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะนี้ ได้แก่ Golden Retriever, Labrador Retriever, Boston Terrier, Cocker Spaniel, Siberian Husky และ Poodle
ภาวะจอตาเสื่อมแต่กำเนิด (Congenital Retinal Dysplasia)
เป็นโรคที่ส่งผลต่อการพัฒนาของจอตา ทำให้ลูกสัตว์มีปัญหาในการมองเห็นหรืออาจตาบอด สายพันธุ์สุนัขที่มีความเสี่ยงสูงต่อภาวะนี้ ได้แก่ Labrador Retriever, English Springer Spaniel, Terrier และ Samoyed
พัฒนาการมองเห็นของลูกสัตว์เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและมีความแตกต่างกันไปในแต่ละสายพันธุ์ การดูแลและให้สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม รวมถึงการให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ จะช่วยให้ลูกสัตว์พัฒนาการมองเห็นได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ การล่า หรือการป้องกันตนเองในอนาคต การสังเกตพฤติกรรมและการตอบสนองของลูกสัตว์ต่อสิ่งรอบตัวสามารถช่วยให้เจ้าของมั่นใจว่าการมองเห็นของพวกมันพัฒนาไปในทิศทางที่เหมาะสม หากมีข้อกังวล หรือพบเจอความผิดปกติทางโครงสร้างหรือการทำงานของดวงตา แนะนำให้พาเด็กๆมาพบสัตวแพทย์เพื่อปรึกษา และให้คำแนะนำเพิ่มเติม